เกร็ดความรู้สุขภาพกินอะไรบำรุงสายตา ?

  ผลวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า การให้วิตามิน C, E เบต้าแคโรทีน, ธาตุสังกะสี และธาตุทองแดง มีประโยชน์ในการชะลอการเสื่อมมากขึ้นของผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทเสื่อม ตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป (Moderate Age-Related Macular Degeneration) ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่มีโรคจอประสาทเสื่อมเพียงเล็กน้อยอาจไม่ได้ประโยชน์เท่าไรนักจากการรับประทานวิตามินดังกล่าว หมอตาจะเป็นผู้ประเมินระดับความเสื่อมของจอประสาทตาจาการขยายม่านตา ดังนั้นถ้ามาตรวจตาไม่ได้วิตามินกลับไปรับประทานก็อย่าเสียใจ นั่นแสดงว่าจอประสาทตายังสุขภาพดีอยู่หรือผิดปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

                ถ้าอย่างนั้นเรามีวิธีการบำรุงสายตาโดยการทานอาหารเสริมได้หรือไม่ ? จากการวิจัยของแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศพบว่า การรับประมานอาหารเสริมที่มีสารอาหารดังต่อไปนี้มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา

                1.วิตามิน A เป็นสารที่ช่วยในการทำงานของจอประสาทตาและมีบทบาทสำคัญในการมองเวลากลางคืน ซึ่งพบมากในผักจำพวก ชะอม คะน้า ยอดกระถิน ตำลึง ผักโขม ฟักทอง

                2.วิตามิน B มีการศึกษาพบว่า วิตามิน B1 และ B12 อาจมีบทบาทในการชะลอการเกิดต้อกระจกได้ โดยแหล่งที่มีวิตามินชนิดนี้มาก ได้แก่ ตับ ไข่ เนื้อสัตว์ นมสด

                3.วิตามิน C เป็นที่รู้จักกันดีของการชะลอความแก่ของร่างกายด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) นอกจากนั้นยังอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้อีกด้วย ผลไม้ที่มีวิตามิน C มาก ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม สับปะรด มะขามป้อม ส่วนผัก ไก้แก่ กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่

                4.วิตามิน E ก็เป็นวิตามินอีกตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีอยู่ในเซลล์รับแสงที่จอประสาทตา และการศึกษาพบว่าอาจมีบทบาทช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกเช่นเดียวกัน พบได้ใน น้ำมันธัญพืช น้ำมันดอกคำฝอย ข้าวโพด ถั่วเหลือง

                5.เบต้าแคโรทีน (betacarotene) เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน A ซึ่งมีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระและช่วยในการมองเห็นในกลางคืนเช่นเดียวกับวิตามิน A พบมากในผักผลไม้ที่มีเหลืองส้ม เช่น แครอท มะละกอ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง ผักบุ้ง ข้อควรระวังคือการรับประทานเบต้าแคโรทีนในรูปอาหารเสริมมากไปในคนที่สูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งปอดได้

                6.ลูทีน และ ซีแซนทิน (lutein and zeaxanthin) เป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบในจุดรับภาพที่จอประสาทตาและเลนส์ตา มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาพบว่ามีส่วนช่วยในการชะลอการเกิดต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม พบมากใน ผักโขม ไข่แดง ข้าวโพด บร็อคโครี่

                7.ซีลีเนียม (selenium) เป็นสารอีกตัวหนึ่งที่ต้านอนุมูลอิสระและอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก โดยพบได้ใน หอยนางรม หอยลาย ตับไก่ เมล็ดทานตะวัน

                8.สังกะสี (zinc) มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาพบว่ามีส่วนช่วยในการทำให้จอประสาทตาเสื่อมที่เป็นอยู่แล้วเป็นช้าลง โดยแหล่งที่พบสังกะสีได้แก่ หอยนางรม ตับ เนื้อสัตว์

                9.สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) นอกจากคุณสมบัติเพิ่มเลือดไหลเวียนไปที่สมองแล้วยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระเกี่ยวกับสายตาพบว่า อาจช่วยรักษาลานสายตาผิดปกติในต้อหินบางชนิดได้

                10.โอเมก้า 3 (omega 3) เป็นกรดไขมันที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาภาวะตาแห้ง ซึ่งพบมากในปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ผลไม้ที่พบได้ เช่น ผลกีวี่

 

 ที่มา สสส. https://www.thaihealth.or.th